“ ศิลปินนักพันผ้า” หนึ่งเดียวในไทย. โสภาส ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้คิดค้นวิธีรักษาผืนผ้าไหมไทยทั้งผืนเอาไว้เพื่อคนรุ่นหลัง
จากอดีต นายแบบ นักแสดง ผู้เชี่ยวชาญการแต่งหน้า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสี และสไตล์ อาจารย์ วิทยากร แฟชั่นกูรู คอลัมนิสต์ ผู้ดำเนินรายการ ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์
และปัจจุบันคือ “ที่ปรึกษากรมหม่อนไหม ด้านเครื่องแต่งกายและแฟชั่นประยุกต์”
มาสู่ “ศิลปินนักพันผ้า” มืออาชีพ ที่คิดค้นศาสตร์การนำผ้าไหมไทยทั้งผืนมาพันผูกให้เป็นชุดสวยบนเรือนร่างของคนในรูปแบบเครื่องนุ่งห่มสไตล์แฟชั่นประยุกต์แบบสากล
ด้วยจุดประสงค์หลักในการคิดค้นวิธีรักษาผืนผ้าไหมไทยทั้งผืนนี้ เกิดจากความรักความหวงแหนผืนผ้าไหมทอมือของไทยที่ต้องสูญหายไปกับการถูดตัดเย็บเพื่อใช้งานนุ่งห่ม ต้องบอกว่า ผ้าไหมไทยทอมือนั้นทุกผืนจะมีแค่ผืนเดียวในโลกเท่านั้น ต่อให้คนเดิมเป็นคนทอก็จะไม่เหมือนผืนเดิมด้วยปัจจัยหลายๆอย่างหลายๆด้าน โดยเฉพาะการย้อมด้วยสีธรรมชาติก็จะยิ่งยากมาก เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถทำให้ได้เหมือนเดิมเลยทีเดียว
เพราะผ้าทุกผืนที่มีขึ้นมานั้น ต้องผ่านการทุ่มเทตั้งแต่ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม มามัดเส้นใยแล้วย้อมสีเพื่อไปทอเส้นใยไหมให้กลายเป็นผืนผ้าอันวิจิตรและงดงาม ซึ่งเมื่อโดนนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแล้วบางครั้งก็เกิดการที่ไม่สวยงามเท่าที่ควรอาจจะใช้งานได้แค่ไม่กี่ครั้งก็ถูกลืมไปทิ้งให้อยู่ในตู้เก็บเสื้อผ้าเพราะด้วยรูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับสมัยนิยม
ดังนั้นอาจารย์โสภาสจึงคิดค้นวิธีการเก็บรักษาผืนผ้าไหมไทยทอมือทั้งผืนเอาไว้ให้ทรงคุณค่าและเป็นมรดกให้กับคนรุ่นใหม่ได้เห็นถึงความสวยงาม ฝีมือ การเอาใจใส่ ความอดทน ให้มีความรักความหวงแหนมรดกด้านหัตถกรรมของคนไทย เพราะ “ฝีมือคนไทยไม่เคยแพ้ชาติใดในโลก”
เทคนิคการผูกพันผืนผ้าทั้งผืนให้เป็นชุดนั้น อาจารย์โสภาส ได้นำเอาเทคนิค “เครื่องนุ่งห่มของไทยสมัยก่อน”มาเป็นหลักในการสร้างงาน แล้วนำเอาเทคนิคการเอาวิธี ”Drape” ที่หมายถึง “ศิลปะที่ใช้การตกถ่วงของผ้ามาประดับอันเป็นเทคนิคการทำเสื้อแบบกูตูร์ ที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความชำนาญและความปราณีต” มาผสมผสานกับงาน Haute couture(โอตกูตูร์) ที่หมายถึง “การสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายให้เข้ากับผู้สวมใส่โดยเฉพาะ โอตกูตูร์ เป็นแฟชั่นชั้นสูงที่ทำขึ้นด้วยมือตั้งแต่ต้นจนจบ ทำอย่างมีคุณภาพ มีราคาสูง และบางครั้งก็ใช้ใยผ้าที่ไม่ธรรมดาและการเย็บอย่างบรรจงในรายละเอียด” ซึ่งงานที่กล่าวนั้นเป็นงานที่สุดวิเศษของทางยุโรป ที่อาจารย์โสภาสได้ยึดหลักแนวคิด เครื่องนุ่งห่มของไทยเรามาแต่ครั้งอดีตนั่นเอง “คนไทยเรา..นุ่งห่มโดยไม่มีการตัดเย็บมาก่อนและใช้เทคนิคการตกถ่วงของผ้ามาใช้
อาจารย์โสภาสได้นำผ้าไหมไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศด้วยตัวเองทุกครั้ง และได้สร้างงานที่พิเศษหลายๆงาน อย่างงานใช้ผ้าไหมทั้งหมด 24 เมตรผูกพันบนตัวนางแบบที่เป็นคอลเลคชั่นน่าประทับให้กับนิตยสารแฟชั่นดัง หัวฝรั่งเศสมาแล้ว สร้างงานผูกพันงาน”ตรานกยูงพระราชทานของกรมหม่อนไหม” ที่ใช้นางแบบเพียงคนเดียวแต่ทำให้ดูแตกต่างไปสี่รูปแบบ งานแฟชั่นโชว์ของสมาคม Woman to Woman และสมาคม ซอนต้า กรุงเทพ 3 ที่ผูกพันคนตัวนางแบบกว่า 40 ชีวิต และอีกมากมายที่พบเห็นกัน.
อาจารย์โสภาส ได้ฝากถึง นักออกแบบเสื้อผ้าคนรุ่นใหม่ว่า .ขอเป็นกำลังใจและขอชื่นชมว่า คนไทยรุ่นใหม่เป็นคนที่เก่ง มีประสิทธิภาพ แต่ขอให้หันกลับมาเชิดชู”ผ้าไหมไทย”ของเราให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ในรูปแบบที่ร่วมสมัย ขอให้เรียนรู้เรื่อง “ผิวสัมผัส” ของผืนผ้า เรียนรูเรื่อง body Line ของคนที่เราต้องการให้เขาสวมใส่หรือนุ่งห่มเพื่อให้เกิดความกลมกลืนของรูปร่างและเสื้อผ้า ขอให้เรียนรู้ให้จริงอย่าหยุดกับที่ เพราะโลกมีการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยากเห็นผ้าไหมไทยเรานั้นอยู่บนเวทีสากลอย่างภาคภูมิใจ.
สำหรับคนที่ชื่นชมผ้าไหมไทย ก็เป็นกำลังใจให้ทำความรู้จักในผืนผ้าไหมไทยให้มากกว่าที่ผ่านมา พยายามอย่าเลียนแบบรูปแบบเดิมๆ โลกหมุนผ่านมาและหมุนต่อไปเรื่อยๆ “จงพยายามนำเอาแฟชั่นแบบไทยๆ มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากลมกลืนกับแฟชั่นในยุคปัจจุบันให้ได้”จะดีที่สุด
“ศิลปินนักพันผ้า” เป็นศิลปะรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีขึ้นในเมืองไทย หลายคนอาจจะคิดว่าใครก็พันๆกันได้ แต่ความจริงแล้ว ต้องใช้ความรู้ ทักษะ ความปราณีต ในการสร้างงานอย่างมาก เนื้อผ้า ลวดลาย รูปแบบของรูปทรงที่ต้องสร้างขึ้น ต้องอาศัย “สมาธิ องค์ความรู้ ประสบการณ์และที่สำคัญคือ ความรัก”
วันนี้เรามี ”ศิลปินนักพันผ้า” ที่เป็นคนไทยคนแรกของประเทศไทยแล้ว ศิลปะแขนงนี้ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในโลกใบนี้.กับผู้ชายที่รักและหวงแหนผืนผ้าไหมไทยอย่างสุดหัวใจ ผู้ชายที่ทุกคนในวงการผ้าไหมไทยรู้จักกันดี
“โสภาส ณ ตะกั่วทุ่ง..ศิลปินนักพันผ้า หนึ่งเดียวในไทย”